“คิง เพาเวอร์” นำสื่อมวลชนและแฟนคลับเยือนสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ที่อังกฤษ พร้อมเปิดตัวสินค้าคอลเลกชันใหม่ล่าสุด ให้แฟนคลับได้เลือกซื้อสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาไทยของคนไทย “Thai Natural Dye Collection” คือผ้าทอของท้องถิ่น ย้อมสีจากธรรมชาติ ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของภาคเหนือ นำเสนอความงดงาม และเสน่ห์ของผ้าไทย ตัดเย็บเป็นเสื้อโปโล กระเป๋า หมวก แจ็กเกต
นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เปิดเผยระหว่างการนำสื่อมวลชน และบรรดาแฟนคลับของสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ จากประเทศไทย เดินทางไปเยี่ยมเยือนสโมสร ในเมืองเลสเตอร์ ซิตี้ ประเทศอังกฤษ ซึ่งนอกจากจะเป็นสเตเดียมสำหรับการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญๆระหว่างทีมเหย้า-เยือนแล้ว ยังมี Shop ขายสินค้าคอลเลกชันต่างๆของสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ที่มีคนไทยเป็นผู้ออกแบบ และตัดเย็บจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยแท้ๆ เปิดขายให้กับแฟนบอล และชาวเมืองเลสเตอร์ ซิตี้ด้วย
สำหรับสินค้า Ready-to-wear ประจำสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ รุ่นใหม่ล่าสุด ภายใต้คอนเซปต์ที่นายวิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของ และผู้ก่อตั้ง คิง เพาเวอร์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว วางไว้ให้ก็คือ การนำสินค้าจากภูมิปัญญาไทยไปเปิดตลาดในอังกฤษให้ได้ คือ Thai Natural Dye Collection ที่เป็นผ้าทอของท้องถิ่นทางภาคเหนือ ย้อมสีธรรมชาติจาก 3 ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ ชุมชนปกาเกอะญอ จังหวัดลำพูน การทอผ้าจกตามแบบเฉพาะของอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และการย้อมสีเส้นใยผ้าจากธรรมชาติของตำบลตะเคียนปม จังหวัดลำพูน
ทั้งนี้ Thai Natural Dye Collection ถูกออกแบบตัดเย็บให้เป็นคอลเลกชันของเสื้อโปโลสำหรับแฟนบอล กระเป๋า หมวก แจ็กเกต ซึ่งผสมความเป็นไทยแท้ๆไว้ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยได้ใช้ทีมดีไซเนอร์จากไทยเข้าไปช่วยชาวชุมชนออกแบบลายผ้า และรูปแบบการตัดเย็บตามความถนัดของชาวชุมชน เพื่อสร้างอาชีพตามภูมิปัญญา ที่สืบทอดกันมานานหลายยุคสมัย โดยเฉพาะผ้ามัดย้อมที่กำลังเป็นเทรนด์นำแฟชั่นเสื้อผ้าในตลาดโลกขณะนี้
ในคอลเลกชันพิเศษนี้ ได้มีการนำเส้นใยย้อมสีธรรมชาติมาทอจกกลับหัวเป็นครั้งแรกจนได้ลายจิ้งจอกสยาม ซึ่งเป็นโลโก้ประจำสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ด้วย เรียกว่าสามารถนำเสนอความงดงามและเสน่ห์ของผ้าไทยในรูปแบบสากลได้อย่างลงตัว ไม่เหมือนใครอีกด้วย
“ที่ผ่านมา คิง เพาเวอร์ เน้นการให้ความรู้กับผู้ผลิตในชุมชน เพื่อต่อยอดพัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในตลาด และเป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าต่างๆให้เป็นที่รู้จัก และนิยมใช้ในระดับโลกเพื่อสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตอันดีงาม ลึกซึ้ง และขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นภาคเหนือ สะท้อนให้เห็นศักยภาพของฝีมือคนไทยในการทอผ้าให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับโลก”
นายอัยยวัฒน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ให้ดีไซเนอร์เข้าไปขอให้ชุมชนบ้านตะเคียนปมปัดฝุ่นกระบวนการย้อมผ้าที่เรียกว่า ย้อมคราม ที่เป็นการทำผ้ามัดย้อมที่สืบสานกันมาแต่โบราณขึ้นมาใหม่ เป็นการเปิดตัวคอลเลกชันสินค้า และเสื้อย้อมครามของสโมสร เพื่อให้แฟนคลับได้ซื้อหากัน ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างมาก
ดังนั้น จึงส่งทีมงานของคิง เพาเวอร์ และดีไซเนอร์เข้าไปยังชุมชนทั้ง 3 แห่ง เพื่อนำเส้นใยจากลำพูนมาทอแบบวิถีของจก อันเป็นสินค้าพื้นเมืองสำคัญของอำเภอแม่แจ่ม ที่มีจุดกำเนิดจากฝีมือของชาวไทยเชื้อสายพระยาเขื่อนแก้ว แห่งเมืองเชียงแสน เมื่อ 200 ปีก่อน ความโดดเด่นของคอลเลกชันนี้อยู่ที่ลวดลายบนผืนผ้าที่เพิ่มเส้นด้ายเป็นช่วงๆบนหน้ากว้าง ของผืนผ้าโดยใช้ไม้ขนเม่น หรือนิ้วมือยกเส้นด้าย แล้วพุ่งเส้นด้ายด้วยสีพิเศษ เพื่อสร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ และงดงามแตกต่างกันไปอีก
“ผ้าซิ่นตีนจก เป็นมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรม เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของคนแม่แจ่มที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) รวม 16 ลายด้วยกัน คอลเลกชันใหม่ของสโมสรรุ่นนี้ก็ใช้ลายดอกจัน ลายโคมหัวหมอน ซึ่งเป็นลายที่ใช้ทอเฉพาะหัวหมอนที่แม่แจ่ม รวมถึงลายทอตัวหนังสือโลโก้แบรนด์ LCFC ที่เกิดจากการทอจกกลับหัวเป็นครั้งแรกของวิธีการทอผ้าที่ชาวชุมชนมอบให้เป็นลายใหม่ เพื่อเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคิง เพาเวอร์”
สินค้าคอลเลกชันนี้ได้วางขายที่เมืองเลสเตอร์ ซิตี้ และลอนดอนแล้ว เพื่อโชว์ความสวยงาม ฝีมือ และเอกลักษณ์ของไทย ก่อนจะกลับมาเปิดตัวในประเทศไทยต่อไป.
จาก https://today.line.me/th/pc/article/คิง+เพาเวอร์+นำภูมิปัญญาท้องถิ่น+เปิดตลาดผ้าทอสู่ประเทศอังกฤษ-oNVE2o
โพสต์โดย : arkaru เมื่อ 14 เม.ย. 2562 20:36:42 น. อ่าน 155 ตอบ 3
RE : "คิง เพาเวอร์" นำภูมิปัญญาท้องถิ่น เปิดตลาดผ้าทอสู่ประเทศอังกฤษ
เยี่ยมไปเลยค่ะ
ตอบโดย : Proudzer เมื่อ 15 เม.ย. 2562 16:03:46 น. ตอบคำถาม
RE : "คิง เพาเวอร์" นำภูมิปัญญาท้องถิ่น เปิดตลาดผ้าทอสู่ประเทศอังกฤษ
ตอบโดย : lookpla เมื่อ 1 ส.ค. 2562 10:26:08 น. ตอบคำถาม
RE : "คิง เพาเวอร์" นำภูมิปัญญาท้องถิ่น เปิดตลาดผ้าทอสู่ประเทศอังกฤษ
ตอบโดย : Supawadee เมื่อ 6 ส.ค. 2562 10:28:35 น. ตอบคำถาม