ศาลสั่งจำคุกยกครัว จากกรณีที่หญิงแม่ลูกอ่อนในจังหวัดอ่างทอง ที่สั่งซื้อยาลดความอ้วนทางออนไลน์มากินแล้วเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อเดือน ก.ค. 2562 โดยสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจตำรวจ ได้ตรวจตัวอย่างอาหารในกระเพาะอาหารของผู้เสียชีวิต พบสารฟลูออกซิทีน เป็นยาระงับประสาท และในถุงน้ำดีพบสารไซบูทรามีน ก่อนที่ตำรวจ จะนำกำลังบุกทลายโรงงานผลิตยาลดความอ้วนและอาหารเสริมในพื้นที่อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ และจับกุมตัวนางสาววสภัสสร สุลำนาจ อายุ 56 ปี เจ้าของโรงงาน นายกฤชกร บุตรวิเศษ อายุ 36 ปี แฟนหนุ่มของนางวสภัสสร รวมทั้งนางสาวจิณณะ นิชคุณมั่น หรือ หมอเดียร์ อายุ 31 ปี อดีตเภสัชกร และนายธนกร เลิศสงคราม อายุ 26 ปี ซึ่งทั้งสองคนเป็นลูกสาวและลูกชายของนางวสภัสสร
ศาลสั่งจำคุกยกครัว ล่าสุดวันนี้ (29 เม.ย.63) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ ยื่นฟ้องนางสาววสภัสสร สำลำนาจ จำเลยที่ 1 นายกฤชกร บุตรวิเศษ จำเลยที่ 2 นายธนกร เลิศสงคราม จำเลยที่ 3 และนางสาวจิณณะ นิชคุณมั่น จำเลยที่ 4 ฐานความผิด พ.ร.บ.โรงงาน พ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.อาหาร และ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
โดยการกระทำของจำเลยทั้ง 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันผลิตยาแผนปัจจุบันโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กับฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันผลิตยาแผนปัจจุบันโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายจำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันขายยาแผนโบราณโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายจำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายอาหารปลอมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายจำคุกคนละ 5 ปี
ฐานร่วมกันผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กับฐานร่วมกันจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายจำคุกคนละ 2 ปี
ฐานร่วมกันผลิตไซบูทรามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กับฐานร่วมกันขายไซบูทรามีนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันผลิตไซบูทรามีนโดยฝ่าผืนต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกคนละ 20 ปี และปรับคนละ 2,000,000 บาท
ฐานร่วมกันขายไดอาซีแพมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายจำคุกคนละ 6 ปี และปรับคนละ 600,000 บาท
และฐานร่วมกันขายวัตถุออกฤทธิ์ปลอมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายจำคุกคนละ 8 ปี ปรับคนละ 800,000 บาท
ทั้งนี้ คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1-3 และทางนำสืบของจำเลยทั้ง 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 4 โดยโทษเหลือจำคุกคนละ 34 ปี 33 เดือน ปรับคนละ 2,550,000 บาท และยกฟ้องฐานร่วมกันตั้งโรงงานจำพวกที่ 3 และฐานร่วมกันประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 แต่ให้ริบไซบูทรามีน ไดอาซีแพม Blister, Blister Packing ของกลาง และให้ริบยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ และเครื่องจักรของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
ล่าสุดศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ได้มีคำพิพากษา -จำคุกจำเลยทั้งสี่ คนละ 5 ปี ฐานร่วมกันผลิตยาแผนปัจจุบันโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันขายยาแผนโบราณโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายอาหารปลอมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จำคุกคนละ 20 ปี และปรับคนละ 2,000,000 บาท ฐานร่วมกันผลิตไซบูทรามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กับฐานร่วมกันขายไซบูทรามีนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย
จำคุกคนละ 6 ปี และปรับคนละ 600,000 บาท ฐานร่วมกันขายไดอาซีแพมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จำคุกคนละ 8 ปี ปรับคนละ 800,000 บาท ฐานร่วมกันขายวัตถุออกฤทธิ์ปลอมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
รวมโทษ จำคุก 59 ปี ปรับคนละ 3,400,000 บาท ทว่า คำให้การของจำเลยที่ 1-3 ในชั้นสอบสวน และทางนำสืบของจำเลยทั้ง 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้กระทงละ 1 ใน 4 เหลือจำคุกคนละ 34 ปี 33 เดือน และปรับคนละ 2,550,000 บาท