ชาวต่างชาติเรียกอาณาจักรอยุธยาว่า "สยาม" เมื่อราวปี 2000[15]:73 ยอร์ช เซเดส์ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เขียนว่ามีการพาดพิงทาสหรือเชลยศึกซีเอม (Syam) ในจารึกอาณาจักรจามปาในคริสต์ศตวรรษที่ 11[16]:190–191, 194–195 ทว่าคนไทยไม่เคยเรียกตนเองว่า "สยาม" หรือ "ชาวสยาม" เลย[17] ส่วนคำว่า "คนไทย" นั้น จดหมายเหตุลาลูแบร์ได้บันทึกไว้ชัดเจนว่า ชาวอยุธยาเรียกตนเองเช่นนั้นมานานแล้ว[15]:217
เดิมประเทศไทยเคยใช้ชื่อว่า สยาม มาแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยปรากฏใช้เป็นชื่อประเทศชัดเจนในปี 2399[18] ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 1 เปลี่ยนชื่อประเทศ พร้อมกับเรียกประชาชน และสัญชาติจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย" ซึ่งจอมพล ป. ต้องการบอกว่าดินแดนนี้เป็นของชาวไทยมิใช่ของเชื้อชาติอื่นตามลัทธิชาตินิยมในเวลานั้น[19]:57-8 ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อประเทศกลับเป็นสยามอีกช่วงสั้น ๆ เมื่อปี 2488 และเปลี่ยนกลับมาใช้ว่าไทยอีกครั้งเมื่อปี 2491 ซึ่งเป็นช่วงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี การเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ยังเปลี่ยนจาก "Siam" ในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส เป็น "Thaïlande" ในภาษาฝรั่งเศส และ "Thailand" ในภาษาอังกฤษอย่างในปัจจุบัน[17] อย่างไรก็ตาม ชื่อ สยาม ยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ
ในความหมายอย่างเคร่งครัด คำว่า "ไทย" หมายถึงประเทศไทยในช่วงหลังการเปลี่ยนชื่อประเทศหลังปี 2482 โดยเว้นช่วงสั้น ๆ ที่เปลี่ยนกลับไปเป็นชื่อ "สยาม" ระหว่างปี 2488–91 ดังกล่าวข้างต้น ทว่าในความหมายอย่างกว้าง คำว่า "ไทย" อาจใช้หมายถึงราชอาณาจักรทั้งหลายซึ่งนักประวัติศาสตร์กระแสหลักถือเป็นราชธานีของคนไทยตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
โพสต์โดย : จัสมิน เมื่อ 5 ต.ค. 2566 12:58:19 น. อ่าน 139 ตอบ 0