ดิฉันได้แบ่งการเปลี่ยนแปลงในชีวิตออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ การเปลี่ยนแปลงที่ดี การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ดี การเปลี่ยนแปลงที่ยอมรับได้ และการเปลี่ยนแปลงที่ยอมรับไม่ได้ เช่น การเลิกกับแฟนเก่านิสัยไม่ดี แต่เรารักมาก ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ที่อาจจะยอมรับไม่ได้ เพราะเรารักเขามาก หรือการสูญเสียญาติคนสำคัญที่เรารับรู้ว่าเขาป่วยหนักมานาน แบบนั้นก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ดี แต่เรายอมรับได้ เพราะเขาทรมานกับการต่อสู้กับโรคร้ายมานานมากแล้ว เป็นต้น ดังนั้นแล้วเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา ปัญหามันจึงมีอยู่ 2 ปัญหา คือ การเปลี่ยนแปลงนั้นดี หรือไม่ดี? และเราสามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่? ซึ่งวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ก็คือ การยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะเราเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ แต่สามารถทำใจให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างมีสติ
จากหนังสือล้มแล้วไง ไปต่อ Fuck up and Move on ของคุณท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ได้พูดถึงการอยู่กับปัจจุบันไว้ว่า ชีวิตนั้นมีแต่ความไม่แน่นอน ดังนั้นเราจึงต้องใช้โอกาสที่มีอย่างคุ้มค่าที่สุด ทำชีวิตของตัวเองให้พิเศษ ถึงแม้ว่าจะมีคนมาปิดโอกาสเรา ถึงเราจะทำอะไรเขาไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการเปิดโอกาสให้ตัวเอง คนเดียวที่จะหยุดโอกาสเราได้สนิท คือตัวเราเองเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า เราเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ แต่เราสามารถใช้ชีวิตของเราต่อไปได้ ถึงแม้เราจะผิดหวัง ล้มเหลวดี่ครั้ง หากยังมีชีวิตขอให้มองสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน และใช้สิ่งนั้นสร้างหนทางชีวิตที่สดใสขึ้นมาใหม่ ดังที่ในบทหนึ่งของหนังสือเล่มดังกล่าวเขียนไว้ว่า “เราควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่เราตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้”
ตามทฤษฎีจิตวิทยาของ Vroom ที่ชื่อ ทฤษฎีความคาดหวัง (Expectancy Theory) ได้กล่าวไว้ว่า ความคาดหวังประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ (1) Valence คือ ความพึงพอใจของบุคคลที่มีต่อผลลัพธ์ (2) Instrumentality คือ แนวทางที่จะไปสู่ความพึงพอใจ และ (3) Expectancy คือ ความคาดหวังในตัวบุคคล ดังนั้นหากเราไม่ปรับความคาดหวังให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เราก็มีโอกาสสูงที่จะล้มเหลว เพราะสถานการณ์ในความเป็นจริงไม่เอื้อให้เราประสบความสำเร็จตามความคาดหวัง หรือหากกล่าวตามทฤษฎีก็คือ การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่เอื้อต่อ “แนวทางที่จะไปสู่ความพึงพอใจ” (Instrumentality) นั่นเอง แต่ถ้าเราปรับความคาดหวัง (Expectancy) ให้เหมาะสม เราก็จะพบแนวทางไปสู่ความสำเร็จ (Instrumentality) ที่สามารถทำได้จริง และนำไปสู่ความพึงพอใจ (Valence) ในที่สุด
Growth Mindset คือ กรอบความคิดหรือทัศนคติและแนวคิดที่มีความยืดหยุ่น เชื่อว่าคนเราสามารถพัฒนาได้ มีศักยภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเองมุ่งมั่น ซึ่ง Growth Mindset นั้นจะเป็นตัวช่วงสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพราะเมื่อเรายืดหยุ่น เราจะมองสถานการ์อย่างรอบด้านมากขึ้น ทำให้เห็นแง่มุมต่าง ๆ ของการเปลี่ยนแปลง เช่นที่อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีกล่าวไว้ว่า “ผมเชื่อว่าความพยายามสำคัญกว่าพรสวรรค์ (Talents) เราสามารถปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของบุญ วาสนา หรือ แล้วแต่เวรกรรม ความสำเร็จต่าง ๆ ที่ได้มา เป็นเพราะเราสะสม หาความรู้ ประสบการณ์ หรือสะสมจุด ในชีวิต ทำให้เรามีมุมมองต่าง ๆ ที่กว้าง ทันสมัย และ สุดท้ายแล้วเราก็มีโอกาสที่จะเจอกับโชคดี” และยังเคยกล่าวไว้ในหลาย ๆ เวที ว่า “เราควรที่จะมี Growth Mindset เชื่อในความพยายาม ซึ่งจะมีความสำคัญในระยะยาวและมีผลกับความสำเร็จในชีวิต อย่าคิดว่าโชคชะตากำหนดชะตาชีวิต เพราะเราจะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของเราเอง”
คุณศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ อดีตผู้บริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์คอนโดมิเนียม เจ้าของศิริวัฒน์แซนด์วิช ผู้ผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งมาด้วยหัวใจที่สุดสตรอง ได้เคยให้สัมภาษณ์กับ Thai PBS ว่า “มันเป็นบทเรียนที่เจ็บปวด ไม่รู้จักพอเพียงและเราโลภ เรามีความมั่นใจในตัวเองสูง ว่าทำอะไรก็สำเร็จหมด ไม่ได้เผื่อเอาไว้เลย” และเคล็ดลับที่ทำให้เขาผ่านพ้นวิกฤติมาได้ ก็คือ การมองโลกในแง่ดี โดยคุณศิริวัฒน์ ได้กล่าวว่า “คนเราถ้าไม่ยอมแพ้และมีความพยายาม เรารู้ปัญหาของตัวเรา เราก็สามารถประคับประครองไปได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรามันชั่วคราวเท่านั้น หากเราเปลี่ยนความคิด เราไม่ยอมแพ้ เราก็จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส”
หากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย หรือเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนเรารับไม่ทัน การขอความช่วยเหลือจากคนที่ปรับตัวได้ก็เป็นแนวทางการแก้ไขสถานการ์ที่ดีค่ะ เช่น ในกรณีที่ผู้สูงวัยตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไม่ทัน จนอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ก็สามารถขอความรู้จากผู้รู้ หรือขอให้ลูก หลานในบ้านช่วยสอน ช่วยสอดส่องดูแลความปลอดภัยทางเทคโนโลยีให้เราได้ หรือในกรณีที่พบวิกฤติที่นาน ๆ เกิดที เช่น ภัยธรรมชาติ วิกฤตทางเศรษฐกิจ โรคระบาด เราก็สามารถขอความรู้จากผู้ที่เคยผ่านวิกฤตมาก่อนได้ เพราะพวกเขาเหล่านั้นมีประสบการณ์ตรง แล้วเราค่อยนำความรู้มาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการ์ปัจจุบันเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพได้