การลงมือหรือพยายามทำอะไรสักอย่าง ย่อมมีครั้งที่เลือกผิด, ตัดสินใจผิด, เข้าใจผิด ทำให้ผลลัพธ์ไม่ตรงกับที่คาดคิด ถ้าเป็นเรื่องที่หวังผลในทันที เหมือนการสั่งอาหารในร้านที่ไม่เคยกินมาก่อน ผลลัพธ์มันก็แค่ไม่อร่อย ไม่ถูกใจ จบไป แต่ถ้ามันเป็นเรื่องอะไรที่หวังผลในระยะยาว หรือเป็นส่วนหนึ่งในภาพรวม เราย่อมอยากที่จะ “ก้าวหน้า” แต่เมื่อก้าวพลาด มันคือความรู้สึกเสียแผน, เสียหาย อย่างน้อยก็เสียเวลา ซึ่งถือได้ว่าเป็น “ก้าวที่ผิด”
ก้าวที่ผิด อาจส่งผลเสียมากน้อยไม่เท่ากัน ไม่มีใครอยากเดินผิดทาง แต่เชื่อหรือไม่ในคนที่ประสบความสำเร็จหลายคน ก้าวที่ผิดหลายครั้งนำมาซึ่งโอกาส ก้าวที่ผิดหลายครั้งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และก้าวที่ผิดส่วนใหญ่มันเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับเขาเหล่านั้น
ตัวชี้วัดประการหนึ่ง คือให้ลองคิดว่า ถ้าเราเป็นคนที่ทำอะไรแต่ละครั้ง แล้วหวังใหญ่ทุกครั้ง ก้าวผิดหนึ่งครั้งมันย่อมเสียความรู้สึก หรือเสียหายรุนแรง แต่นัยหนึ่งมันกำลังหมายความว่า เราเป็นคนที่ทำอะไรหวังผลแค่ตรงหน้า ซึ่งความสำเร็จแท้จริงของเราส่วนใหญ่มันไม่ง่ายขนาดนั้น มันต้องใช้เวลาในการทำ หรืออาศัยเวลาในการสะสม ก้าวผิดครั้งเดียวย่อมไม่อาจทำลายเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้
และบนความพยายามที่ต้องใช้เวลา ความสำเร็จที่ไม่มีพิมพ์เขียววาดไว้ ความผิดพลาดย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ในคนที่สำเร็จมักมีวิสัยทัศน์ แนวทางหรือแผนการที่ชัดเจน ดังนั้นการก้าวผิดไปบ้าง ย่อมเป็นเพียงการสะดุดเพียงเล็กน้อย หรือต่อให้เลี้ยวผิดก็อาจกลายเป็นทางลัดให้เขาได้ในแบบที่เรา ๆ เรียกว่าโชคดี แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้คือภาวะที่ “รู้ตัว” ทั้งสิ้นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมัน “ถูกทาง” หรือไม่ มีแม้กระทั่งก้าวที่ผิด ที่เป็นเพียงการทดลองเพื่อหาก้าวที่ดีกว่าต่อไป
สำหรับคนที่เดินเรื่อยเปื่อยไปวัน ๆ กับชีวิต หรือแค่พยายามก้าวไปเรื่อย ๆ มันก็คล้ายคนที่แค่ก้าวไปได้ก็ดีใจแล้ว แต่วันหนึ่งใครจะรู้ว่าที่ก้าวมาเสียเวลาไปเท่าไร แม้ไม่ได้แย่แต่ก็ไม่เข้าใกล้สิ่งที่มีความหมายอะไร พอรู้ตัวว่าก้าวผิดแล้วก็ทำได้แค่ตกใจ พะวง สงสัย และตื่นกลัว ท้อแท้ จริงอยู่ไม่มีใครรู้หรอกว่าก้าวข้างหน้าจะเจออะไร ดังนั้นที่สุดคือการทำอะไรแบบวัดผลได้ นั่นจึงคล้ายคนที่ก้าวไปแบบมีเข็มทิศ เพราะแม้จะเจอสิ่งผิดปกติแต่ก็มั่นใจได้ว่าไม่ผิดทิศทาง
โพสต์โดย : เจ้าหนู เมื่อ 14 ต.ค. 2566 18:49:59 น. อ่าน 150 ตอบ 0