ในทุกวันนี้ที่ความเครียด ความกดดันถาโถมเข้ามาใส่เรา จนเราไม่รู้ว่าจะต้องเครียดกับสิ่งไหนก่อน จะต้องรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในชีวิต จนนำไปสู่ “ภาวะสิ้นยินดี” คือ ไม่รู้สึกว่าตนเองมีความสุขในการใช้ชีวิต เมื่อมีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้น ก็ไม่ยินดีกับตนเอง หรือเมื่อมีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นกับผู้อื่น ก็ไม่รู้สึกใด ๆ ซึ่ง “ภาวะสิ้นยินดี” นี้ ก็สามารถทำให้หัวใจของเราด้านชา ไร้ความรู้สึก จนขาดเป้าหมายที่จะใช้ชีวิต ใช้ชีวิตไปวัน ๆ ปล่อยให้ตัวเองไหลไปตามเวลา ทำหน้าที่ตามน้ำ กลายเป็นผู้เหี่ยวเฉาทางจิตวิญญาณ
โดยในทางจิตวิทยา “ภาวะสิ้นยินดี” หรือ Anhedonia หมายถึง ภาวะทางอารมณ์ ที่มีความผิดปกติ เพราะเป็นภาวะที่เราไม่มีความรู้สึกใด ๆ กับสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิต เนื่องมาจากชุดความคิดที่ว่าสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ของจริง คงอยู่ไม่นาน และยังจมอยู่กับความเสร้าในจิตใจที่กัดกร่อนเรื้อรัง โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาให้ข้อมูลว่า “ภาวะสิ้นยินดี” มีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัย ดังนี้
สาเหตุทางกายภาพ หรือสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น ความบกพร่องของการหลั่งสารสื่อประสาท การได้รับบาดเจ็บทางสมอง การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เป็นต้น
สาเหตุจากพันธุกรรมและการเลี้ยงดู เช่น บุคลิกภาพของผู้เลี้ยงดูที่เป็นซึมเศร้า หรือผู้เลี้ยงดูมองโลกในแง่ร้าย อารมณ์ฉุนเฉียว เจ้าอารมณ์ เด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาโดยบุคคลเหล่านั้นก็สามารถซึมซับและมีบุคลิกภาพ รวมถึงการมองโลกที่คล้ายคลึงกับผู้เลี้ยงดูได้
สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ หากเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อยู่ท่ามกลางคนที่มองโลกในแง่ดี เราก็จะได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากผู้คนรอบข้าง แต่ถ้าหากว่าสิ่งแวดล้อมรอบข้างไม่ดี เสียงดัง มีมลภาวะ อยู่ท่ามกลางคนที่เป็น Toxic ก็เป็นการยากที่จะทำให้เราเป็นคนอารมณ์ดี มองโลกในแง่ดีได้
แล้วทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเรานั้น เข้าข่าย “ภาวะสิ้นยินดี” แล้วหรือไม่ โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ให้ข้อสังเกต เกี่ยวกับ “ภาวะสิ้นยินดี” เอาไว้ ดังนี้ค่ะ
1. ความคิด
ผู้ที่มี “ภาวะสิ้นยินดี” มักจะมีความคิดในเชิงลบ หรือมองโลกในแง่ร้าย มักระแวง ไม่ไว้ใจใคร เมื่อเกิดเรื่องดี ๆ หรือมีคนทำดี เขาจะมีความคิดว่า สิ่งนั้นอยู่ไม่นาน ไม่ใช่ของจริง คนที่ทำดีกับเขาไม่จริงใจ จึงทำให้เขาเฉยชากับคนที่ทำดีกับเขา ไม่เกิดความรู้สึกเป็นสุขแม้ว่าตนเองจะได้รับการชื่นชม หรือได้รับรางวัล ได้รับตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมักจะมุ่งความสนใจไปยังเรื่องไม่ดีที่เกิดกับตัวเอง แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น มีคนนินทา ของหล่นหาย และปล่อยให้ตนเองจมจ่อมอยู่กับความรู้สึกทางลบอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
2. ความรู้สึก
ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า หากเราทำกิจกรรมที่เราชอบ หรือเราเคยสนุกกับมัน แต่เราไม่มีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมนั้นอีกแล้ว หรือไม่มีสมาธิ ไม่มีกระจิตกระใจที่จะทำกิจกรรมที่เคยชอบ นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เรากำลังอยู่ใน “ภาวะสิ้นยินดี” ค่ะ เช่น หากเราชอบอ่านหนังสือมาก แต่อยู่ ๆ เรากลับไม่สามารถจดจ่ออยู่กับการอ่านได้ เพราะรู้สึกไม่มีความสุขที่อ่านหนังสือ หรือ เคยฟังเพลงหนึ่งแล้วรู้สึกมีความสุขมาก แต่แล้วกลับรู้สึกว่าเพลงนั้นทำให้เราเป็นทุกข์ หรือไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งใด ๆ ที่เคยทำให้เรามีความสุข เป็นต้น
3. การตอบสนองของร่างกาย
ผู้ที่หมดใจในการใช้ชีวิต อย่างเช่นผู้ที่มี “ภาวะสิ้นยินดี” มักจะปรากฏความเหนื่อยล้าทางร่างกายตามมาด้วย โดยผู้ที่มี “ภาวะสิ้นยินดี” มักจะเหนื่อยง่ายกว่าคนทั่วไป หากเทียบกับการทำงานในปริมาณเท่ากัน มีความยากเท่ากัน หรือเมื่อตื่นขึ้นมาก็อยากจะนอนต่อ ไม่อยากตื่นมาใช้ชีวิต ไม่อยากพบปะผู้คน ซึ่งส่งผลให้อารมณ์ไม่สดชื่น การควบคุมอารมณ์ค่อนข้างมีปัญหา และมักจะเจ็บป่วยเรื้อรังด้วยอาการเจ็บป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณพบว่า เราเข้าข่าย “ภาวะสิ้นยินดี” อยู่นี่นะ ทางเราก็ได้รวบรวมวิธีฟื้นฟู เยียวยาจิตใจ ให้กลับมามีความรู้สึกทางบวกอีกครั้ง ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้ค่ะ
1. ทำในสิ่งที่รัก แล้วเราจะได้รับความรักกลับมา
ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้สึกอิน หรือไม่ได้มีความสุขเท่าเดิมในการทำกิจกรรมที่ชอบ ลองพาตัวเองไปเป็นเด็กอีกครั้ง โดยกลับไปทำกิจกรรมที่เรารู้สึกสนุกในตอนที่เราเป็นเด็ก เช่น เล่นเครื่องเล่นในสวนสนุก ไปกระโดดน้ำเล่นกับลูก ๆ หลาน ๆ หรือเด็ก ๆ แถวบ้าน หรือปล่อยใจไปกับการเล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือปล่อยให้ตัวเองรู้สึกสงบไปกับการทำสวน เพื่อให้เราได้หวนคิดถึงความสุขในวัยเด็ก ที่เราไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องกดดัน กับภาระหน้าที่ในแบบผู้ใหญ่
2. ฝึกรู้เท่าทันอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกตนเอง
รู้เขา ไม่สู้รู้เรา เพราะหากเรารู้จักตัวเอง รู้เท่าทันความรู้สึก อารมณ์ และความคิดของตัวเอง เราจะสามารถเบรก หรือหยุดตัวเองได้ทัน ก่อนที่ความคิดทางลบ ความรู้สึกจะจมดิ่ง และอารมณ์จะเกรี้ยวกราด หรือซึมเศร้า เมื่อเราสามารถยับยั้งความคิด อารมณ์ ความรู้สึกทางลบได้ เราก็สามารถพาตัวเองขึ้นมาจากความทุกข์ได้ และสามารถเคลียร์ใจ ระบายความทุกข์ในใจ จนหัวใจกลับมารับความรู้สึกดี ๆ ได้อีกครั้ง
โพสต์โดย : เจ้าหนู เมื่อ 23 ธ.ค. 2566 18:55:41 น. อ่าน 135 ตอบ 0