ในคืนที่เรานอนอย่างมีคุณภาพ หลับเต็มอิ่ม ได้นอนเต็มที่ เราจะตื่นมาแบบสดชื่นแจ่มใส สมองปลอดโปร่ง พร้อมรับวันใหม่ แต่ถ้าคืนไหนนอนไม่พอ หลับไม่เต็มอิ่ม เรามักจะหงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี ไม่ค่อยมีสติในการทำงานใช่ไหมคะ ซึ่งความรู้สึกทางลบเหล่านั้นเราไม่ได้คิดไปเองหรอกค่ะ เพราะมีงานวิจัยทางจิตวิทยาหลาย ๆ งาน ได้ยืนยันว่าสุขภาพจิตกับการนอนมีความสัมพันธ์กันแบบเหนียวแน่นเลยทีเดียว โดยผลการวิจัยทางจิตวิทยาของ Arizona State University ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ พบว่า สุขภาพจิตกับการนอนมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก โดยกลุ่มตัวอย่างทั้งที่นอนอย่างมีคุณภาพ และนอนแบบไม่มีคุณภาพ ต่างส่งผลต่อสุขภาพจิตถึง 29% แต่ที่น่ากังวลใจก็คือในกลุ่มที่นอนแบบไม่มีคุณภาพมีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช และมีความคิดทำร้ายตนเองเพิ่มขึ้นถึง 25%
สำหรับงานวิจัยทางจิตวิทยาในประเทศไทยเราเอง เช่น งานวิจัยของคุณธิติมา ณรงค์ศักดิ์ คุณฐิติมา สงวนวิชัยกุล และ คุณวรพงศ์ ตรีสิทธิวนิช เมื่อปี 2563 รวมถึงงานวิจัยของคุณนุสบา ใจซื่อ และคุณอภิญญา ธรรมแสง เมื่อปี 2564 ซึ่งมีผลการวิจัยสอดคล้องกันว่า สุขภาพจิตกับการนอนมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการนอนที่ไม่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องจะก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคทางจิตเวช โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคซึมเศร้า และโรคทางร่างกาย เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ซึ่งสามารถแบ่งผลกระทบ 4 ผลกระทบใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ผลกระทบทางสุขภาพจิต
จากรายงานวิชาการของวารสาร Front Psychiatry พบว่า ในกลุ่มคนที่มีปัญหาในเรื่องการนอน ติดต่อกันมากกว่า 48 ชั่วโมง อาจก่อให้เกิดโรคทางจิตเวชชนิดเฉียบพลันได้ โดย 90% กลุ่มตัวอย่างเกิดสภาวะประสาทหลอน (visual hallucination) และภาวะหลงผิด (Illusions) โดยอาการจะรุนแรงมากขึ้นตามระยะเวลาที่ยังไม่ได้นอนอย่างมีคุณภาพ
2. ผลกระทบทางสุขภาพกาย
จากรายงานวิชาการด้านสุขภาพกาย โดย PubMed เมื่อปี ค.ศ. 2014 พบว่า การนอนหลับแบบไม่มีคุณภาพ การนอนที่ไม่เพียงพอ ส่งผลต่อกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันกับการติดเชื้อในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ที่นอนแบบไม่มีคุณภาพเจ็บป่วยได้ง่ายมากขึ้น เสียชีวิตเร็วขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
3. ผลกระทบต่อการทำงานของสมอง
เมื่อปี ค.ศ. 2000 Williamson และคณะ ได้ทำการวิจัยทางจิตวิทยาในกลุ่มบุคคลที่นอนไม่เพียงพอ พบว่า เมื่อกลุ่มตัวอย่างอดนอน นอนไม่พอ นอนแบบไม่มีคุณภาพ เพียงแค่คืนเดียวเท่านั้น สมองจะทำงานช้าลงมาก โดยร่างกายจะมีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นช้ามาก มีประสิทธิภาพการคิดและตัดสินใจลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างได้นอนอย่างมีคุณภาพ พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา การคิด และตัดสินใจได้ดีขึ้น
4. ผลกระทบด้านการรับประทานอาหาร
จากรายงานวิชาการของวารสาร PLoS Medicine เมื่อปี ค.ศ. 2004 ที่ได้ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มีปัญหาด้านการนอน พบว่า ในกลุ่มผู้ที่นอนน้อยกว่า 8 ชั่วโมง ถึง 74.40% มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในวิสคอนซิน สหรัฐ ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,024 ราย ที่มีปัญหานอนไม่หลับ พบว่า ผู้ที่นอนหลับได้น้อยกว่า 8 ชม. คิดเป็นร้อยละ 74.4 มีระดับ BMI เพิ่มขึ้น เนื่องจากหลั่ง Ghrelin hormone หรือฮอร์โมนแห่งความหิวเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
จากผลกระทบของความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตกับการนอนข้างต้น จึงตอกย้ำกับเราว่าการนอนอย่างมีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ได้แนะนำ 4 เคล็ดลับการนอนอย่างมีคุณภาพ เอาไว้ดังนี้ค่ะ
โพสต์โดย : เจ้าหนู เมื่อ 27 ธ.ค. 2566 18:33:29 น. อ่าน 144 ตอบ 0