โซดาซ่า ดูบอล
Menu

เบลเยี่ยม มีลุ้น แชมป์ฟุตบอลโลก

โพสต์เมื่อ 9 ก.ค. 2561 17:12:16 น. เข้าชม 781 ครั้ง แจ้งลบ

ศึกฟุตบอลโลก 2018 ดำเนินมาถึงช่วง 100 เมตรสุดท้ายหรือรอบรองชนะเลิศ โดยจะเตะกันวันที่ 10 กับ 11 กรกฎาคมนี้ ซึ่งหนึ่งในทีมที่ได้รับการจับตามองรวมถึงเสียงเชียร์ไม่น้อยก็คือ เบลเยียม ดังนั้นเราจะพาไปรู้จักกับ "ปีศาจแดงแห่งยุโรป" ย้อนไปตั้งแต่ยุครุ่งเรือง จนถึงการปฎิวัติจากสมาคมฯ ก่อนที่จะเป็นยอดทีมที่อัดแน่นไปด้วยซูเปอร์สตาร์ลูกหนังเฉกเช่นทุกวันนี้

เบลเยียม ยุคเฟื่องฟูสุดขีดคือช่วงทศวรรษ 80 กับผลงานรองแชมป์ ยูโร ปี 1980 ตามด้วยอันดับ 4 ฟุตบอลโลก 1986 นักเตะตัวชูโรงคือ แฟรงกี เวอร์คัวเตเรน ปีกซ้ายเจ้าของฉายา “เดอะ ลิตเติล ปรินซ์” ไล่หลังมาก็เป็นจอมทัพอย่าง เอ็นโซ ชีโฟ ถึงกระนั้นก็ตามจากนั้นผลงานดำดิ่งได้เล่น เวิลด์ คัพ เพียงแค่ 4 ครั้งต่อจากที่ เม็กซิโก แถมไปได้ไกลแค่รอบ 16 ทีมสุดท้าย โดย 2 ครั้งหลังสุดที่ เยอรมนี กับ แอฟริกาใต้ ไม่ผ่านรอบคัดเลือก ด้านฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปได้เล่น 2 ครั้งตกรอบแรกทั้งหมด

ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ สมาคมฟุตบอลเบลเยียม ตัดสินใจลุกขึ้นมาปฏิวัติรื้อระบบการจัดการทั้งหมด คือ ยูโร 2000 ที่เป็นเจ้าภาพร่วมกับ เนเธอร์แลนด์ ทว่าตกรอบแรก ทั้งที่นักเตะก็มีชื่อชั้นอย่าง ลุค นิลิส, เอมิล เอ็มเปงซา และ มาร์ก วิลมอตส์ โดยถูกชาติอย่าง ตุรกี เบียดคว้าอันดับ 2 ของกลุ่มไปครองทั้งที่มีแค่ 4 แต้ม

เจ้าของแนวคิดที่จะปลุกชีพ เบลเยียม หรือฉายา “ปีศาจแดงแห่งยุโรป” ให้กลับมาน่าเกรงขามอีกครั้งก็คือ มิเชล ซาบลอน ผู้อำนวยการด้านเทคนิค ที่มองว่าฟุตบอลในประเทศอย่าง จูปิแลร์ ลีก ไม่เหมาะที่แข้งวัยละอ่อนจะพัฒนาฝีเท้าให้เบ่งบานจึงสนับสนุนให้กระจายไปเล่นยัง ลีก เอิง ฝรั่งเศส หรือ เอเรดิวีซี ลีก เนเธอร์แลนด์

ซาบลอน เป็นหนึ่งในสตาฟฟ์ทีมชาติเบลเยียม ชุดลุยฟุตบอลโลกที่ เม็กซิโก, อิตาลี และ สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงพิมพ์เขียวที่เป็นคนคิดขึ้นมาว่า “ฟุตบอลสโมสรของเราล้มเหลวเป็นเหตุให้ผลงานระดับทีมชาติไม่ดีพอ ทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์ไม่สามารถไปแข่งกับ สเปน หรือ ฝรั่งเศส ได้เลย ดังนั้นปี 2002 เราจึงเริ่มศึกษาพวกเขาอย่างใกล้ชิด เริ่มจากฝรั่งเศส และมีการนัดประชุมกันปีละ 2 ครั้ง ซึ่งก็ทำเช่นเดียวกันกับ เนเธอร์แลนด์ บางครั้งก็ยังพบกับ เยอรมนี ทุกอย่างไปได้สวย และเริ่มปรับปรุงสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ขึ้นเรื่อยๆ”

แน่นอนว่าความสำเร็จไม่ได้มาเพียงชั่วข้ามคืน อันเดอร์เลชท์ และ สตองดาร์ด ลีแอจ 2 สโมสรยักษ์ใหญ่ภายในประเทศต้องพัฒนาดาวรุ่ง พร้อมออกกฎให้มีเกมระดับเยาวชนตามเกณฑ์ ซึ่งถ้าอายุมากขึ้นแมตช์ที่เล่นก็เพิ่มตามไปด้วย ประเด็นสำคัญคืออยากให้เด็กพวกนี้พร้อมก้าวสู่อีกระดับให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“เรามีการทำโบรชัวร์ จากนั้นก็เริ่มรวมกลุ่มผู้คนบนโต๊ะจากแผนกเทคนิคและตัดสินใจเกี่ยวกับการทำแผน 3 เป้าหมาย 1.สโมสร 2.ทีมชาติ และ 3.โค้ชระดับโรงเรียน ทั้งหมดอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน เรามุ่งไปที่ทีมก่อน ถามถึงการส่งลงเล่นระดับอายุไม่เกิน 18 ปี เจาะลึกถึงระบบ 4-3-3 ใช้เวลา 5-6 ปีกว่าทุกคนจะปรับตนเองให้ยอมรับได้ เพราะทั้งโค้ชและลีกต่างสนใจชัยชนะของตนเองมาก่อนเป็นลำดับแรก ไม่ง่ายที่จะเริ่ม แต่ในที่สุดทุกคนก็มองเห็น จากนั้นก็เดินไปพร้อมกันเพื่อสร้างผู้เล่นที่ดีกว่าเดิม ผมรู้จักโค้ชมากมายช่วงหลายปีมานี้ และเชื่อว่าเราได้บุคคลที่ทำงานอย่างจริงๆ รวมถึงรู้ว่าทำกำลังอะไรอยู่” เจ้าของแนวคิด เผย

ทำให้ปี 2007 เบลเยียม มีแข้งเยาวชนที่ตอนนี้เล่นลีกยุโรปอย่าง เอเดน อาซาร์ (เพลย์เมกเกอร์ / เชลซี) และ คริสเตียน เบนเตเก (กองหน้า / คริสตัล พาเลซ) โดยเป็นแกนหลักชุดเข้าถึงรอบรองชนะเลิศศึกฟุตบอล ยูโร รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ซึ่งก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี ปีถัดมาก็มีเลือดใหม่อย่าง มารูยาน เฟลไลนี (กองกลาง / แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด) และ แวงซองต์ กอมปานี (กองหลัง / แมนเชสเตอร์ ซิตี) ไปลุย โอลิมปิก 2008 ที่ จีน ซึ่งได้ถึงอันดับ 4

ซาบลอน เผยอย่างภาคภูมิใจว่า “การทำงานยังคงดำเนินไป ผู้เล่นอย่าง เฟลไลนี, อาซาร์, แยน แฟร์ตองเกน และ โทมัส แฟร์มาเลน เริ่มฉายแววตั้งแต่อายุ 17 หรือ 18 ปี เราไม่สงสัยเลย เพราะพัฒนาระบบให้ทุกคนกลายเป็นนักเตะที่ดีกว่าเดิมและก็เห็นผลแล้ว ณ ขณะนี้ชัดเจนว่าเรากำลังยกระดับขึ้น แสดงว่าทุกอย่างใช้ได้มาถูกทาง”

แม้จะมีประชากรเพียงแค่ 11 ล้านคน แต่ยังได้ประโยชน์จากการอพยพเข้ามาของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม เบนเตเก และ กอมปานี มีเชื้อสายคองโก ขณะที่ เฟลไลนี ก็โมร็อกโก ทั้งหมดเกิดในเบลเยียม ซึ่งตอนนี้มีนักเตะมากมายเล่นให้กับสโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรป

สำหรับรอบรองชนะเลิศ เวิลด์ คัพ 2018 เบลเยี่ยม จะพบกับ ฝรั่งเศส แชมป์โลกเมื่อปี 1998 เตะวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ ณ เครสตอฟสกี้ สเตเดี้ยม ตอนตี 1 ตามเวลาประเทศไทย ส่วนอีกคู่คือ โครเอเชีย พบ อังกฤษ เตะวันที่ 11 ก.ค.นี้ ณ ลุซนิกี้ สเตเดี้ยม ตอนตี 1 จากนี้ไม่ว่า "ปีศาจแดงแห่งยุโรป" จะได้แชมป์โลกในปีนี้หรือไม่ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างมีรูปแบบที่พร้อมให้หลายชาตินำไปเดินตามรอย

แสดงความคิดเห็น

facebook